การใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับแผนการจัดการสารก่อภูมิแพ้ในอาหาร
ในอนาคตเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในเรื่องความปลอดภัยอาหาร จากข้อมูลที่ได้รับการเผยแพร่ล่าสุดเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) มาใช้ในการติดตามปริมาณกลูเตนหรือถั่วพิสตาชิโอบดในตัวอย่างแป้งถั่วเลนทิล (lentil flour)
วิธีนี้ได้รับการพัฒนาจากแบบจำลองทางคณิตศาสตร์โดยใช้โครงข่ายประสาทตรวจจับแบบคอนโวลูชัน (convolutional neural networks) และการเรียนรู้แบบถ่ายโอน (Viz, ResNet34) เพื่อติดตามปริมาณแป้งสาลีหรือปริมาณถั่วพิสตาชิโอบดในตัวอย่างแป้งถั่วเลนทิล เทคนิคนี้มีพื้นฐานจากการจำแนกรูปภาพที่ได้จากการถ่ายรูปจากนั้นทำการจัดกลุ่มตามชนิดและปริมาณ (สูงสุด 50 ppm) ต่อการติดตาม โดยใช้อัลกอริทึ่ม 2 แบบสำหรับแป้งสาลีและถั่วพิสตาชิโอ และใช้ฐานข้อมูลรูปภาพจำนวน 2,200 รูปในแต่ละโครงข่าย (neural networks)
จากการตรวจสอบประสิทธิภาพโดยสุ่มรูปตัวอย่างแป้งถั่วเลนทิลร้อยละ 10 มาวิเคราะห์หาปริมาณกลูเตนและถั่วพิสตาชิโอบด พบว่าสามารถวิเคราะห์การมีอยู่ของถั่วพิสตาชิโอบดในตัวอย่างแป้งถั่วเลนทิลถูกต้องถึงร้อยละ 99.1 และการมีอยู่ของแป้งสาลีในตัวอย่างแป้งถั่วเลนทิลถูกต้องถึงร้อยละ 96.4
อ้างอิง: https://allergenbureau.net/how-useful-is-ai-in-your-allergen-management-plan/