ความผิดพลาดในการแสดงฉลากส่งผลให้เด็กที่แพ้อาหารในสหภาพยุโรปพบกับความเสี่ยงสูง
ในสหภาพยุโรปมีระบบแจ้งเตือนอาหารและอาหารสัตว์อย่างรวดเร็ว (Rapid Alert System for Food and Feed, RASFF) สำหรับกระบวนการตอบสนองและการเรียกคืนสินค้าในกรณีที่ตรวจพบความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนตามห่วงโซ่อาหาร จากการวิเคราะห์ข้อมูลสารก่อภูมิแพ้ในอาหารตามระบบแจ้งเตือนอาหารและอาหารสัตว์อย่างรวดเร็วแสดงให้เห็นถึงระดับความผิดพลาดของการแสดงฉลากอาหารอย่างน่าประหลาดใจซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเด็กที่แพ้อาหารมากที่สุด
นักวิจัยได้ใช้ข้อมูลการแจ้งเตือนสารก่อภูมิแพ้ในอาหารในช่วงวันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 จากระบบแจ้งเตือนอาหารและอาหารสัตว์อย่างรวดเร็ว ผ่านฐานข้อมูลเปิดออนไลน์พบการแจ้งเตือนเกี่ยวกับสารก่อภูมิแพ้ในอาหารทั้งหมด 844 ครั้ง โดยในปี พ.ศ. 2562 พบการเรียกคืนมากที่สุด (n=241) ซึ่งประเทศหลักที่มีการแจ้งเตือนเกี่ยวกับอันตรายของสารก่อภูมิแพ้ในอาหาร ได้แก่ เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร (สังเกตว่าข้อมูลในปี 2564 ไม่รวมสหราชอาณาจักร เนื่องจากไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปอีกต่อไปในเดือนมกราคม พ.ศ. 2564) โดยพบการแจ้งเตือนนม (ร้อยละ 20.5) กลูเตน (ร้อยละ 14.8) และถั่ว (ร้อยละ 10.9) เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยที่สุดและไม่มีการแสดงฉลากแจ้งเตือนที่ถูกต้อง สิ่งเหล่านี้สามารถพบได้บ่อยครั้งและมีความร้ายแรงต่อเด็กที่แพ้อาหารมากที่สุด จากกลุ่มอาหาร 27 ประเภทในระบบแจ้งเตือนอาหารและอาหารสัตว์อย่างรวดเร็ว สารก่อภูมิแพ้ที่ไม่ได้มีการแจ้งเตือนส่วนใหญ่พบในผลิตภัณฑ์จากธัญพืช เบเกอรี่ อาหารปรุงสำเร็จ ขนมขบเคี้ยว โกโก้และผลิตภัณฑ์ขนมซึ่งทั้งหมดนี้เป็นอาหารที่เด็กบริโภคบ่อย
ผู้วิจัยรู้สึกแปลกใจกับปริมาณสารก่อภูมิแพ้ที่ไม่มีการแจ้งเตือนปริมาณมาก (ร้อยละ 7.6) ในผลิตภัณฑ์ที่มีข้อความ “ปราศจาก” โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารก่อภูมิแพ้ที่อ้างว่าไม่มีอยู่จริงล้วนเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กได้บ่อยครั้งและสารก่อภูมิแพ้เกือบทั้งหมดไม่มีการแจ้งเตือนโดยพบความผิดพลาดจากการติดฉลากมากกว่าการมีอยู่ของสารก่อภูมิแพ้หรือการปนเปื้อนของสารก่อภูมิแพ้ที่เกิดจากการสัมผัสข้าม เช่น ในบางผลิตภัณฑ์ที่มีข้อมูลหลายภาษาไม่แสดงการแจ้งเตือนการมีอยู่ของสารก่อภูมิแพ้ในภาษาหนึ่งแต่แสดงในภาษาอื่น ระดับความรู้เกี่ยวกับฉลากอาหารไม่ถูกต้องนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการศึกษาของผู้ป่วย นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องสร้างความตระหนักให้กับกลุ่มผู้ผลิตอาหารและหน่วยงานด้านความปลอดภัย เพื่อปรับปรุงแนวทางในการปฏิบัติต่อการแสดงฉลากอาหาร
อ้างอิง: https://allergenbureau.net/labelling-errors-put-eus-food-allergic-children-at-high-risk/