การแพ้อาหาร คือ การผิดปกติของร่างกายเมื่อทานอาหารบางอย่างเข้าไป โดยสาเหตุของความผิดปกติเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย อาการไม่พึงประสงค์จากอาหาร (Adverse food reaction : AFR) แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย
- lgE mediated reaction เช่น อาการแพ้ถั่วลิสงที่เกิดขึ้นภายใน 1 นาทีหลังจากกินเข้าไป
- Non lgE mediated reaction ส่วนใหญ่จะเกิดภายในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง
2.Food intolerances ไม่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น lactose intolerances แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย
- Toxic reaction เช่น อาหารเป็นพิษ หรือได้รับพิษจากปลา
- Non-toxic reaction เช่น แพ้นม (lactose intolerances)
แพ้อาหารมีอาการอย่างไร ?
อาการของการแพ้อาหารเป็นได้ทุกระบบของร่างกาย ที่พบบ่อยคือ อาการทางระบบทางเดินอาหาร (คันปาก อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย) อาการทางผิวหนัง (ผื่นคัน ลมพิษ) และอาการทางระบบหายใจ (จาม น้ำมูก ไอ หอบ แน่นหน้าอก) ในบางรายอาการแพ้อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
รู้ได้อย่างไรว่าแพ้อาหารชนิดใด?
เมื่อมีอาการดังกล่าวหลังรับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งซ้ำๆ ควรไปหาแพทย์จะทำการซักประวัติ และตรวจร่างกายรวมทั้งถามถึงชนิดของอาหาร ปริมาณที่กินอาการที่เกิดขึ้นในรายที่ประวัติชัดเจนว่ากินอาหารชนิดหนึ่งๆ แล้วเกิดอาการแบบเดิมทุกๆ ครั้ง ก็สามารถให้การวินิจฉัยได้ง่ายว่าแพ้อาหารชนิดนั้นๆ แต่ในบางรายที่สงสัยว่าแพ้อาหารหลายชนิดหรือไม่แน่ใจว่าแพ้อาหารชนิดใด แพทย์จะให้ผู้ป่วยทำการจดบันทึกอาหารที่กินโดยละเอียดและอาการที่ผิดปกติที่เกิดขึ้นเพื่อใช้ในประกอบการวินิจฉัย
นอกจากนั้นยังมีการทดสอบทางผิวหนัง เพื่อช่วยในการหาชนิดของอาหารที่เป็นสาเหตุของการแพ้ด้วย ซึ่งใช้เวลาทดสอบ 15 นาทีก็สามารถทราบผลได้ หรือการตรวจเลือดเพื่อหาว่าแพ้อาหารชนิดใด อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยที่แม่นยำที่สุดคือการให้ผู้ป่วยกินอาหารที่สงสัยว่าแพ้ แล้วดูอาการ ถ้ากินแล้วเกิดอาการ หยุดอาหารนั้นแล้วอาการหายไป พอกินอีกเกิดอาการอีก ก็แสดงว่าผู้ป่วยนั้นแพ้อาหารชนิดนั้นๆ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในรายที่มีอาการแพ้อาหารรุนแรง
รักษาการแพ้อาหารได้หรือไม่?
การรักษาที่ดีที่สุดและได้ผลคือการงดอาหารที่แพ้ โดยต้องงดอาหารทุกชนิดที่มีส่วนประกอบของสารอาหารที่แพ้ เช่น แพ้นมวัว ควรงดอาหารที่มีนมเป็นส่วนประกอบ เช่น ไอศครีม คุ้กกี้ และให้กินนมถั่วเหลืองหรือนมสูตรพิเศษสำหรับผู้ที่แพ้นมวัวแทน
ส่วนการรักษาด้วยยา เป็นการรักษาตามอาการ เช่น ยารักษาอาการผื่นคัน ยาลดน้ำมูก ยาแก้อาการหอบ แน่นหน้าอก เป็นต้น
มีโอกาสหายหรือไม่?
ขึ้นอยู่กับชนิดของอาหาร พบว่าถ้าให้งดอาหารที่แพ้ติดต่อกันนาน 1-2 ปี ก็มีโอกาสหายแพ้ได้ ยกเว้น การแพ้อาหารทะเลและถั่วลิสง ซึ่งมักแพ้ตลอดชีวิต
สำหรับเด็กที่แพ้นมวัว พบว่ามีโอกาสหายแพ้ 50% มื่ออายุ 1 ปี และหายแพ้ 85% เมื่ออายุ 3 ปี ส่วนที่เหลือ 15% จะมีอาการแพ้ตลอดไป และ 25 % ของเด็กที่แพ้นมวัว มักมีอาการแพ้อาหารอื่นๆ ร่วมด้วย
ป้องกันได้อย่างไร?
ครัวที่มีพ่อ แม่ หรือลูกคนโตเป็นโรคภูมิแพ้ สามารถลดโอกาสที่จะเกิดโรคผื่นผิวหนังจากภูมิแพ้ และโรคแพ้อาหารได้ในลูกคนถัดไปโดย
• ให้กินนมแม่อย่างเดียวนานอย่างน้อย 4 เดือนขึ้นไป
• มารดาที่ให้นมบุตรให้งดอาหารที่เป็นสาเหตุของการแพ้บ่อยๆ เช่น ไข่ นมวัว อาหารทะเล ถั่วลิสงในช่วงระยะที่ให้นมบุตร
• เริ่มให้อาหารเสริมแก่ลูกเมื่ออายุ 6 เดือนขึ้นไป